Sunday, January 14, 2007

Securitainment ที่ สนามบิน

Securitainment at the Airport – วัฒนธรรมในบรรยากาศของการรักษาาความปลอดภัย ที่สนามบิน

ตีพิมพ์ใน นิตยสาร ศิลปวัฒนธรรม เมื่อวันที่ ...

คงไม่มีใครลืมเหตุการณ์วันที่ 11 กันยายน ไปได้ เพราะนั่นไม่ใช่เพียงเหตุการณ์ที่ทำให้โลกตะลึงเท่านั้น แต่เป็นเหตุการณ์ที่เปลี่ยนแปลง แนวคิดต่อชีวิตและความเป็นอยู่ของชาวอเมริกันในแทบจะทุกๆ มิติเลยทีเดียว ประเด็นหนึ่งที่สำคัญมาก และถูกเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรง ได้แก่เรื่องของความปลอดภัยที่สนามบิน

ประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นประเทศที่มีเนื้อที่ใหญ่โตมาก คือประมาณ 9,629,091 ตารางกิโลเมตร (ถ้าไม่นับรวม รัฐอลาสก้าที่ห่างไกลออกไปมากเหลือเกิน ก็จะมีขนาดประมาณ 7,011,237 ตารางกิโลเมตร ก็ืคือใหญ่กว่าประเทศไทยซึ่งมีขนาด 513,115 ตารางกิโลเมตร ประมาณ 15 เท่า) ดังนั้นการเดินทางภายในประเทศสหรัฐอเมริกาด้วยเครื่องบิน จึงเป็นสิ่งที่เป็นปกติมาก นอกจากนี้ ความเจริญและการพัฒนาทางเศรษฐกิจของประเทศก็ไม่ได้เจริญอย่เพียงเมืองเดียว เป็นเอกนครแบบกรุงเทพมหานคร แต่ในทุกๆ รัฐของทั้ง 50 รัฐ ก็มีเมืองใหญ่ๆ ที่มีความเจริญและมีสนามบินใหญ่ๆ ดังนั้นโครงข่ายการบินภายในประเทศจึงซับซ้อนและยิ่งใหญ่มาก เป็นอุตสาหกรรมมูลค่านับแสนล้านเหรียญ โดยมีสายการบินพานิชย์ประมาณ 200 กว่าสายการบิน

ด้วยเศรษฐกิจที่เจริญเติบโต ทำให้สังคมอเมริกันที่พัฒนาจากธุรกิจอุตสาหกรรมการผลิตชั้นสูงในช่วงปี 1940s – 1970s มาเป็น ธุรกิจการบริการและเทคโนโลยีสมัยใหม่ ทำให้ผู้คนเดินทางมากขึ้น ค่าบริการก็ถูกลงๆ ตามลำดับ ก็ยิ่งที่ให้คนเห็นโอกาสที่จะไปท่องเที่ยวมากขึ้น โดยเฉพาะการกำเนิดของ Internet ใน ยุค 1990s ที่เป็นการเปิดศักราชการเดินทางท่องเที่ยว เพราะผู้คนสามารถที่จะท่อง Internet ก่อนที่จะไปท่องที่จริงๆ ได้ และช่วยให้การจองตั่๋วเครื่องบิน การจองโรงแรม และเช่ารถสะดวกมากขึ้น ดั้งนั้นธุรกิจการบินภายในประเทศของสหรัฐอเมริกา เป็นธุรกิจที่มีการแข่งขันอย่างรุนแรงมากด้วยเหตุผลของตลาดที่เติบโตอย่างมหาศาลมาตลอด

ในด้านความปลอดภัยที่สนามบินนั้้น ถึงแม้จะมีการจี้เครื่องบินกันมากในยุค 1980s โดย กลุ่มอาหรับ เช่น กรณีของสายการบิน Pan Am เที่ยวบิน 73 เมื่อปี 1986 แต่ส่วนใหญ่ก็เป็นเรื่องของการจับตัวประกันเพื่อแลกเปลี่ยนกับข้อตกลงทางการเมือง หรือทางการเงินบางอย่างเท่านั้น ความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินอยู่ในระดับต่ำ เป็นสิ่งที่อุตสาหกรรมการบินพอจะยอมรับกันได้ และแน่นอนว่าการจี้เครื่องบินดังกล่าวส่วนใหญ่เกิดขึ้นในต่างประเทศ เกิดขึ้นกับเที่ยวบินภายในประเทศของอเมริกาน้อยมากๆ การรักษาความปลอดภัยตรวจคนก่อนขึ้นเครื่องของเที่ยวบินภายในประเทศ จึงไม่ได้เป็นประเด็นที่ผู้คนให้ความสนใจมากนัก

แต่เหตุการณ์วันที่ 11 กันยายน ก็เปลี่ยนภาพพจน์ทุกสิ่งทุกอย่างไป

คนไทยหลายๆ ท่านอาจจะบ่นว่า อเมริกาหลังจากเหตุการณ์ 11 กันยายนแล้ว สหรัฐอเมริกากลายเป็นประเทศที่ขอวีซ่าหรือใบอนุญาติเข้าประเทศได้ยากมาก ส่วนคนไทยที่มี Visa อยู่แล้ว และต้องเดินทางไปสหรัฐอเมริกา จะเห็นได้ว่า จะมีคำถามที่ถามและมาตรการการตรวจสอบประวัติที่ยุ่งยากกว่าเก่ามาก ซึ่งนั่นเป็นความจริง แต่ก็เป็นเพียงผลกระทบส่วนเล็กๆ เท่านั้นต่อคนต่างชาติแบบเรา สำหรับคนอเมริกาที่ต้องเดินทางในสหรัฐอเมริกาแล้วการเดินทางโดยเครื่องบินกลายมาเป็นฝันร้ายกลายๆ เลยทีดียว

จากสมัยก่อนที่เคยมาถึงสักครึ่งชั่วโมงก่อนเดินมา เช็คอินแล้วก็เดินตัวปลิว เข้าไปส่งคนได้ถึงหน้า ประตูเครื่องบิน (Gate) กลายมาเป็นต้องมาถึงก่อนประมาณ สองชั่วโมง เพื่อผ่านระบบรักษาความปลอดภัยทั้งหมด อันดับแรกคือต้องมาเช็คตั๋วก่อน มีการถามคำถาม ใครช่วยหิ้วกระเป๋าหรือไม่ อะไรอย่างไร ปัญหาจะเริมเกิดขึ้นเมื่อคนที่ถูกถามพูดภาษาอังกฤษไม่ค่อยคล่องแคล่ว ก็จะเสียเวลา ต่อมา ก็ถึงขั้นตอนการเช็คอิน เพื่อรับ บัตรขึ้นเครื่อง (Boarding Pass) ในสมัยก่อนท่านก็สามารถทิ้งกระเป๋าเดินทางที่ท่านจะไม่ถือขึ้นเครื่อง ให้กับพนักงานสายการบินตรงนี้ได้ โดยพนักงานสายการบินจะนำไปใสสายพานเพื่อนำไปเก็บไว้ใต้ท้องเครื่องบินให้ แต่ตอนนี้ ท่านเช็คกระเป๋ากับพนักงานสายการบินเสร็จแล้ว ท่านต้องลากกระเป๋าไปเองเพื่อนำไปให้กับ เจ้าหน้าที่ตรวจกระเป๋าของรัฐบาลกลาง ที่ประจำอยู่ที่สนามบิน เช็คกระเป๋าก่อนจะนำไปขึ้นเครื่อง (ใครที่ Shopping มามาก มีกระเป๋าสามใบก็ ลำบากหน่อยนะครับ) หลังจากนั้นท่านจะรู้สึกตัวเบาลงหน่อย ท่าจะเหลือแต่กระเป๋าถือ 1 ใบและกระเป๋าหลักอีก 1 ใบ ที่มีขนาดเล็กพอที่จะอนุญาติให้ขึ้นเครื่องได้ และฝันร้ายที่แท้จริงกำลังจะเริ่มขึ้น

ย้อนหลักกลับไปที่เหตุการณ์วันที่ 11 กันยายน สิ่งที่เกิดขึ้น คือผู้ก่อการร้ายไม่ได้มีปืน มีระเบิด หรือมีอาวุธที่ซับซ้อนแต่อย่างใด มีแค่ คัตเตอร์ หรือมีดเท่านั้น แต่นั่นเป็นสิ่งที่ทำให้ผู้ก่อการร้ายเหล่านี้ไปถึงที่นั่งนักบิน และก่อความเสียหายดังกล่าวได้ ดังนั้นเมื่อมีดเล็กๆ นั่นคือสาเหตุ การตรวจของก่อนขึ้นเครื่องจึงเป็นสิ่งที่สำคัญมากๆ

การตรวจดังกล่าวจะประกอบด้วย 1) การนำของในกระเป๋าออกมาให้หมด โดยเฉพาะของที่เป็นเหล็ก 2) เสื้อผ้าที่เป็นเสื้อคลุม ถอดหมด เสื้อหนาว เสื้อสูท ต้องถอดหมด 3) เครื่องมือ เครื่องใช้ไฟฟ้า โทรศัพท์มือถือ เครื่องเล่น MP3 (โดยเฉพาะ laptop นั้นต้องแยกออกมาต่างหาก) 4) รองเท้า ต้องถอด (มาจากกรณีที่มีผู้ก่อการร้าย ซ่อนระเบิดในรองเท้า)

ลองคิดกันง่ายๆ ว่านั่นคือสิ่งที่ คนๆ เดียวต้องทำ แต่ว่าจะต้องมีคนเป็นพัน เป็นหมื่นผ่านการตรวจแบบนี้ ไม่มีละเว้นแม้แต่คนเดียว จะต้องใช้เวลานานเท่าใด คำตอบง่ายๆ ก็คือใช้เวลานานมาก และเมื่อใช้เวลานานมาก สิ่งที่ต้องทำคือ การ “รอคอย” บางครั้งต้องรอถึง 45 นาที ก่อนจะได้เข้าไปขึ้นเครื่อง

ในเมือง Las Vegas ที่เป็นเมืองที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ (Tourist Destination) อันดับหนึ่งของ สหรัฐอเมริกานั้นเป็นเมืองที่ เครื่องบินขึ้นลงอย่างต่อเนื่อง มีคนเข้าออกปีหนึ่งเป็นสิบๆ ล้าน และมีโรงแรมถึง 150,000 ห้องนั้น ประเด็นเรื่องการรอขึ้นเครื่องบินเป็นปัญหาที่ไม่เล็ก เพราะการที่จะให้คนเิกิดความประทับใจและกลับมาได้ใหม่ได้นั้น สิ่งที่จะเ็ป็นการรบกวน “ประสบการณ์ประทับใจ” ทั้งหลายต้องถูกกำจัดให้หมด

แนวทางระบบการตลาดการท่องเที่ยวในเมือง Las Vegas นั้น จะเป็นการลงทุนร่วมกัน โดยแต่ละโรงแรมจะมีข้อตกลงเบื้องต้นที่จะไม่มีการโจมตีซึ่งกันและกัน แต่จะลงขันกันเพื่อทำการตลาดร่วม เป็นการตลาดของเมือง ร่วมกับรัฐบาล และมีการทำตลาดของโรงแรมหรือ Casino ของโรงแรมต่างหาก

การกำจัดประสบการณ์อันไม่น่าประทับใจที่สนามบินที่ Las Vegas ของผู้โดยสารขอออก (ขาเข้าไม่ต้องตรวจ เพราะตรวจมาจากสนามบินที่บินมาแล้ว) ซึ่งเหมือนเป็นการกล่าวคำอำลากับนักท่องเที่ยวนั้น เป็นเรื่องที่สำคัญ และได้รับการนำมาพูดถึงในที่ประชุมระหว่างรัฐบาล โรงแรมและสถาณที่ท่องเที่ยวในเมือง เพื่อแก้ปัญหาเรื่องนี้ร่วมกัน

การแก้ปัญหานั้น เป็นเรื่องของการใช้เวลาเป็นหลัก การที่จะไปบอกรัฐบาลกลางสหรัฐอเมริกาว่า ให้เว้นสนามบินใน Las Vegas ไม่ให้มีการตรวจเข้ามงวดนั้นเป็นไปไม่ได้ ดังนั้นการลดเวลาตรงไปตรงมาจึงตกไป เมื่อลดเวลาไม่ได้ แนวทางถัดมาคือการหากิจกรรมให้คนทำในช่วงเวลา 45 นาทีนี้ การจะหากิจกรรมที่มีการขยับเคลื่อนย้ายร่างกายก็เป็นได้ยากเพราะทุกคนต้องต่อแถวเข้าตรวจ และจะต้องหาพื้นที่ในสนามบินเื่พื่อมาสนับสนุนกิจกรรม ดังนั้นเหลือหนทางสุดท้ายคือ หาอะไรให้คนเหล่านี้ได้ “ดู” เพื่อฆ่าเวลา

ผู้เขียนซึ่งปัจจุบันเป็นสถาปนิกได้เคย ทำงานร่วมกับนักพัฒนาที่ดินท่านหนึ่งซึ่งได้เล่าเรื่องให้ฟังว่า มีอาคารสูงแห่งหนึ่งที่เขาไปเจ้าของ เกิดปัญหาเมื่อผู้คนที่เช่าอาคารร้องเรียนว่า ลิฟต์ที่ขนคนช้ามาก ต้องรอนาน นักพัฒนาที่ดินผู้นั้นก็ได้พยายามแก้ปัญหาโดยการให้บริษัทที่ขายลิฟต์หาทางปรับปรุงขนานใหญ่ โดยมีการประมาณงบที่ต้องใช้ในการปรับปรุงอย่างมหาศาล แต่ในระหว่างนั้น นักพัฒนาที่ดินผู้นี้ก็ได้ทำการปรึกษาสถาปนิก และสถาปนิกก็ได้แนะวิธีการแก้ปัญหาคือ ตกแต่งผนังข้างลิฟต์ด้วยกระจกเงา และ ติดตั้งโทรทัศน์บริเวณ โถงลิฟต์ ซึ่งใช้เงินน้อยกว่ามาก โดยนักพัฒนาที่ดินก็ทำตามที่สถาปนิกกล่าว คนที่มารอลิฟต์ก็จะได้จัดโฉมตัวเอง ดูทีวีี (เปลี่ยนช่องเองได้) ต่อมาจำนวนการร้องเรียนก็ลดลงเป็นอย่างมาก

จะเห็นได้ว่า การแก้ปัญหาบางอย่างนั้น บางครั้งถ้าการแก้ปัญหาตรงไปตรงมาอาจจะไม่ได้ผลหรืออาจจะยากมาก อาจะต้องมีวิธีอื่นที่อ้อมไป ประเด็นก็คือเราตั้งโจทย์ถูกหรือไ่ม่ ในกรณีของการรอลิฟต์ โจทย์คือทำยังไงให้คนรอได้โดยไม่หงุดหงิด(วิธีการแก้ปัญหาราคาถูก) ไม่ใช่ทำอย่างไรให้ลิฟต์วิ่งเร็วขึ้น(วิธีการแก้ปัญหาราคาแพง) เรื่อง การรอคอยที่ยาวนานบางครั้งก็ไม่ใช่เรื่องของการแก้ป้ญหาโดยการลดเวลาลงแบบตรงไปตรงมา แต่เป็นเรื่องของการหาสิ่งอื่นเป็นจุดที่ทำให้ความสนใจของคนพุ่งไปตรงนั้น ซึ่งนั้นคือสิ่งที่ ทีมของ เมือง Las Vegas นี้ได้ทำ

คำถามต่อไปก็คือ จะให้คนที่เข้าแถวขึ้นเครื่องบินนี้ดูอะไร

ในช่วงแรกๆ ก็มีแนวคิดง่ายๆ ว่าจะให้ดู โฆษณาของโรงแรมและการแสดงต่างๆ ในเมือง ไปเอา Tape เก่าๆ มาฉายก็ได้ แต่ก็มีส่วนที่คัดค้านว่า คนที่มาเที่ยวเมืองนี้สองถึงสามวัน เล่นการพนัน ดูการแสดง กินอาหาร ช๊อปปิ้ง จนอิ่มหน่ำสำราญแล้ว ก่อนออกเดินทางจะยัดเยียดให้คนดูอะไรอย่างเดิม แทนที่จะทำให้คนดูเพลิดเพลินอาจจะทำให้คนหงุดหงิดได้ และในที่สุด ก็ตกลงกันว่า จะยังคงแนวคิดเรื่องเกี่ยวกับการโฆษณา product ของเืมืองซึ่งได้แก่ Show หรือการแสดงต่างๆ แต่จะต้องเป็นสิ่งที่คนไม่เคยเห็นมาก่อน ในที่สุดก็มาถึงประเด็นที่น่าสนใจอีกเรื่อง คือโดยตามปกติแล้ว จะต้องมีเจ้าหน้าที่ออกมาตะโกนเป็นระยะๆ ให้นักท่องเที่ยวเตรียมตัวเพื่อเข้าตรวจ “กรุณาเอาของที่เป็นโลหะออกมาจากกระเป๋านะคะ ถ้าเป็นเครื่อง Computer Laptop ขอให้เอาออกมาใส่กระบะต่างหาก เสื้อหนาวขอให้เตรียมตัวถอด ขอให้เตรียม บัตรประจำตัวและ boarding pass ให้พร้อมเพื่อให้เจ้าหน้าที่ดูด้วย ท่านเดินทางมากับเด็กทารก ขอใ้ห้อุ้มเด็กไว้และนำรถเข็ญเด็กพับเข้าเครื่องตรวจด้วยนะคะ” และจะมีการพูดวนไปเรื่อยๆ ตลอดเวลา คนที่อยู่ในแถวบางครั้งต้องฟังเป็น สิบๆ รอบกว่าจะได้ไปถึงจุดตรวจจริงๆ

ดังนั้นคำตอบที่ออกมาก็คือ จะมีการให้ข้อมูลเหล่านี้ ผ่านทางจอ video โดยให้ดารานักแสดง ที่มีชื่อเสียงของเมือง Las Vegas มาทำการแสดงเพื่อ นำเสนอประเด็นต่างๆ ในเรื่องการเตรียมตัว เข้าตรวจ โดยทุกคนจะมาถ่ายทำที่สนามบิน ทำการแสดงประหนึ่งว่าตัวเองเป็นนักท่องเที่ยวที่จะเดินทาง

ตัวอย่างก็มีดังนี้

- นักมายากลชื่อ Lance Burton แห่งโรงแรม Mirage นั้นมานำเสนอเรื่อง การนำโลหะผ่านประตู scan (จะมีเสียงดัง ถ้ามีโลหะในตัว) โดย Lance ก็ใช้ เทคนิคมายากล หยิบเหรีญออกมาจากตัวไม่รู้จักจบ มีการเืื้อื้อมไปหยิบเหริยญออกมาจากข้างหูขของพนักงานสนามบินด้วย
- คณะมายากล Circ De Soleil (อ่านว่า เซิร์ค เดอ โซเล) อันลือลั่นก็ได้มีนักแสดงที่แสดงเป็นเหมือนเด็กทารกมากระโดดโลดเต้น หน้าประตูตรวจ แล้วขึ้นไปกระโดดกอดผู้ใหญ่ แสดงให้เห็นว่า ต้องอุ้มเด็กผ่านประตู
- นักแสดงเลียนแบบ Elvis Presley (Elvis Presley นักร้องผู้ยิ่งใหญ่ พำนักใน Las Vegas จนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต) ก็มาต่อแถว แล้วพูดคำว่า Thank you Thank you very much ซึ่งเป็น ลักษณะเฉพาะของเขา เวลาให้ตรวจบัตรประจำตัว
- Blue Man Group (คนไทยน่าจะเคยเห็นที่เป็น มนุษย์สีจัด สามคนเป็น พรีเซ็นเตอร์ให้กับน้ำดื่ม มิรินด้ามาก่อน) ก็ออกมาเล่นไฟ neon โดยแสดงเรื่องเกี่ยวกับ การหยิบ Boarding Pass ออกมาแสดง
- Celebrity Chef หรือพ่อครัวชื่อดังชื่อ Wolfgang Pucks (เปรียบได้กับหมึกแดงในประเทศไทย) ก็เข็ญรถ นำอาหารที่ดูดีมากๆ ออกมาตั้ง ใส่กล่องและปิดพลาสติกอย่างเรียบร้อยก่อนจะเข้าเครื่องตววจ เป็นการแสดงเรื่องเกี่ยวกับการบรรจุอาหารและเครื่องดื่มที่ผู้โดยสารนำมาเองให้เรียบร้อยก่อนขึ้นเครื่อง

ผลที่ได้รับคือ เป็นคำตอบที่เป็น win-win-win สำหรับทุกผ่าย หนึ่งคือทำให้คนดูไม่เบื่อ ผู้คนที่อยู่ในแถวนั้นล้วนแต่มีอารมณ์ที่ผ่อนคลาย ต่างรอคอยที่จะดู Video Presentation ชุดต่อไป สองคือลดการทำงานของเจ้าหน้าที่ โดยนอกจากจะไม่ต้องให้มีการตะโกนอีกต่อไป การนำเสนอข้อมูลก็ครบถ้วน และเป็นระบบมากขึ้น เป็นการให้คำแนะนำให้คนเตรียมตัวรับการตรวจอย่างถูกต้อง เมื่อเตรียมตัวถูกต้องการตรวจก็เร็วขึ้น และสุดท้าย แน่นอนที่สุดว่า ทำให้นักท่องเที่่ยวได้เห็นนักแสดง จากการแสดงต่างๆ ทั้งเมือง ทำให้รู้ว่าตัวเองพลาดอะไร และต้องกลับมาใหม่เพื่อมาดูการแสดงของนักแสดงเหล่านี้

สิ่งที่น่าสังเกตุก็คือ สื่อที่นำมานำเสนอนั้น เป็นเรื่องของ วัฒนธรรมล้วนๆ เพราะการแสดงต่างๆ เหล่านี้คือ สีสันของเมือง เป็นคนที่เป็นสัญลักษณ์ของเมือง การที่จะนำ Video เอาตึกรามบ้านช่อง เอาบ่อนคาสิโนมาฉายนั้น ไม่ได้มีความหมายอะไร แต่คนที่เป็นนักแสดง ผู้ให้ความบันเทิงหรือ Entertainer เหล่านี้คือคนที่สามารถปรับเนื้อหาและสามารถเป็นตัวแทนในการนำเสนอประเด็นที่สำคัญใดๆก็ได้ แล้วแต่ความจำเป็นหรือสถาณการณ์ที่จะพาไป อย่างในกรณีนี้คือการให้การศึกษากับนักท่องเที่ยวในการเตรียมตัวเพื่อเข้าตรวจ แต่สิ่งที่นักแสดงเหล่านี้ทำได้ดีมากคือการนำเสนอโดยทำให้คนดูเกิดความสุขและผ่อนคลายในการชม

สรุปก็คือ เป็นความบันเทิงหรือ Entertainment ที่ทำให้คนได้สนุก และในขณะเดียวกันก็เสริมสร้างความปลอดภัยหรือ Security ให้มากขึ้น ผลก็คือกลาย Security + Entertainment = Securitainment นั่นเอง

ในกรณีของประเทศไทยนั้น แถวที่ต้องต่อเพื่อขึ้นเครื่องนั้นไม่นาน เพียงแค่จ่าย ภาษีสนามบิน ห้าร้อยบาท (ไม่เคยต้องต่อแถว) ก็เดินไปโลดแล่นในเขตร้านค้าได้ และการตรวจก็ค่อนข้างเบาบาง แต่กรณีที่ต้องรอนานคือ รอเข้าเืมือง

ใครที่เคยไปเที่ยวต่างประเทศ อาจจะสังเกตุเห็นได้ว่า ที่ท่าอากาศยานดอนเมือง ส่วนขาเข้าที่โต๊ะตรวจหนังสือเดินทางเป็นผู้โดยสารต่างประเทศนั้น แถวจะยาวมาก ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าเห็นใจสำหรับผู้โดยสารต่างประเทศ เพราะ่ว่าอุตสาห์นั่งเครื่องบิน เป็นสิบชั่วโมง เหนื่อยล้าแสนสาหัส แล้วก็ต้องมาต่อแถวเป็นครึ่งชั่วโมง ก่อนเข้าประเทศ ถ้าในอนาคตเราจะย้ายไปสนามบินสุวรรณภูมิ และมีระบบการรับคนได้มากขึ้น แก้ปัญหานี้ได้ก็ดีไป แต่ถ้าวันใดการท่องเที่ยวเบ่งบานจนรับคนไม่ไหว ต้องให้นักท่องเที่ยวรออีก การทำ Video Screen ขึ้นมาเพื่อให้คนดูฆ่าเวลาได้ แต่อาจจะไม่ใช่การขายสถาณที่ท่องเที่ยวเพียงอย่างเดียว แต่อาจจะเป็นการให้การศึกษาเรื่อง วัฒนธรรมประเพณีไทย เรียนภาษาไทยอย่างเบาๆ คำแนะนำต่างๆ ในการใช้เวลาช่วงสั้นๆ ในประเทศไทย

สิ่งที่น่าสนใจจากกรณีศึกษาอันนี้ก็คือ เรื่องของการใช้วัฒนธรรมเป้น “สื่อ” ในการนำเสนอเนื้อหาที่สำคัญ โดยในประเทศไทยนั้น วัฒนธรรมเป็นสิ่งถูกนำมาเสนอเพื่อให้คนได้เรียนรู้วัฒนธรรมโดยตรง ก็คือเป็นทั้งสื่อและเป็นทั้งเนื้อหา แต่ในกรณีของ Las Vegas นี้ได้ถูกปรับให้กลายเป็นสื่อที่เสนอเนื้อหาด้านอื่นๆ ได้ ถ้าผู้ที่มีหน้าที่รับผิดชอบสามารถจับประเด็นวัฒนธรรมไทย เพื่อเป็นสื่อในการสื่อสารกับชาวต่างชาติ ที่มักจะตื่นเต้นกับสิ่งที่ไม่เคยเห็นมาก่อน ทำให้เกิดการดึงดูดเข้าไปชม แล้วจึงนำเขาไปสู่เนื้อหาจริงๆ ที่เราต้องการนำเสนอเป็นอันดับต่อไป เช่นเรื่องทางสังคมไทย เรื่องเศรษฐกิจ ศาสนา การเมือง และอื่นๆ เพื่อให้คนได้รู้จักประเทศไทยในมุมต่างๆ มากขึ้น ให้รู้ว่าประเทศไทย ไม่ได้มีแต่อาหารไทย รำไทย และนวดไทย ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีความซับซ้อนทางสังคมและทางปัญญา (Sophisticated) อาจจะกลายเป็น การให้ความรู้ หรือ Education คู่ไปกับความบันเทิง หรือ Entertainment กลับเป็น Education + Entertainment = Edutainment (ซึ่งไม่ใช่ศัพท์ใหม่แต่อย่างใด)

No comments: